English version

       Bản dịch tiếng Việt

Documents
Presentation
See also:
 

คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (The International Narcotics Control Board) เรียกร้องให้มีความพยายามเพิ่มขึ้นในการป้องกันมิให้ผู้คนเข้าสู่สภาวะการใช้สารเสพติด

เวียนนา (ออสเตรีย) 24 กุมภาพันธ์ 2553 - คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติกล่าวว่า ประชาชนควรจะให้ความสนใจในการป้องกันการใช้สารเสพติดเพิ่มขึ้น โดยได้เน้นถึงความสำคัญของการร่วมมือและความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ

กลวิธีเบื้องต้นในการป้องกันและการลดการใช้สารเสพติด โดยกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เริ่มใช้หรือที่พึ่งเริ่มและยังไม่ได้ติดอย่างจริงจัง คือเนื้อหาที่ได้ถูกเน้นไว้ในบทแรกของรายงานประจำปี 2552 ของคณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ ซึ่งได้ถูกนำเสนอที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเช้าวานนี้

รายงานฉบับนี้เน้นให้เห็นถึงเหตุผลสำคัญหลายประการว่าเหตุใดสังคมจึงควรจะให้ความสำคัญในการป้องกันการใช้สารเสพติดอย่างยิ่งยวด ซึ่งจะพบว่าในระดับบุคคล การทดลองใช้สารเสพติดแค่เพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้เกิดผลลัพท์ที่ไม่สมควรตามมาได้อย่างคาดไม่ถึง เช่น การเกิดการบาดเจ็บ หรือ อันตรายจากการเสพยาเกินขนาด และในระดับสังคมจะเห็นได้ว่าการใช้สารเสพติดมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการบังคับใช้กฏหมาย ค่าใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสุขภาพ และค่าสูญเสียทางการผลิต เป็นต้น ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกชี้ให้เห็นว่า เกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาสุขภาพในโลกเกี่ยวโยงกับปัญหาด้านสารเสพติด และในประเทศที่พัฒนาแล้วสูงถึง 2.3 เปอร์เซ็นต์

ในรายงานยังกล่าวต่อไปอีกว่าอัตราการใช้สารเสพติดมีแนวโน้มค่อนข้างสูงในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนมากกว่าในกลุ่มอายุอื่น ๆ ในปัจจุบันพบว่ามีการเริ่มเสพในกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบกับสถานการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งหากพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้วผู้ที่ไม่เคยทดลองเสพก็จะไม่มีแนวโน้มที่จะใช้ยาเลย ในขณะเดียวกัน บางครั้งการแต่งงานและมีครอบครัวมีผลทำให้การใช้สารเสพติดลดน้อยลง แต่ปรากฏการณ์นี้ก็เริ่มขึ้นช้าในบางสังคม แนวโน้มใหม่ที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของการใช้สารเสพติดในกลุ่มเยาวชนหญิงและการลดลงของปริมาณการใช้สารเสพติดอย่างสูงในกลุ่มเยาวชนชาย

เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2551 ประเทศในภูมิภาคประสบปัญหาในการลดการปลูกฝิ่น เมื่อเทียบกับผลของการทำงานที่ผ่านมา และพบว่ามีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า อีกทั้งยังมีการลักลอบค้า เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และการผลิต MDMA หรือเอ็กตาซี่ (ยาอี) เพิ่มขึ้น และมีการรายงานถึงการผลิต gamma-Hydroxybutyric acid (GHB) เป็นครั้งแรกในช่วง 2-3 ปี

ในประเทศจีน มีผลผลิตแบบใหม่ที่ถูกจับได้ซึ่งมีส่วนผสมของสารเสพติดสังเคราะห์ เช่น ที่มองโกเลียกลางมีการพบและจับเม็ดยาที่ส่วนผสมของ methaqualone และ ephedrine และที่มณฆลกว่างซี ได้มีการจับส่วนผสมของ GHB MDMAและ ketamine ในขวด ซึ่งมีฉลากกำกับว่าเป็นยาแก้ไอแผนโบราณ

ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดได้เพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าโดยการใช้ เครือข่ายสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต เพื่อรับสมัครผู้หญิงจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาเป็นผู้ขนส่ง กลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้หญิงโสด อายุประมาณ 20-30 ปีที่ไม่เคยมีประวัติเสียหาย และเป็นผู้ที่กำลังตกงานหรือผู้ที่ทำงานด้านการขาย การให้บริการหรืองานด้านเสมียน

การลักลอบผลิต การขนส่งและค้า ketamine ซึ่งเป็นสารที่ไม่ได้ถูกควบคุมภายใต้การตกลงระหว่างประเทศ เริ่มที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในหลาย ๆ ประเทศ ตัวอย่างเช่น ในประเทศจีนในปี 2550 ได้มีการปลดรื้อห้องทดลองที่ใช้ในการผลิตมากถึง 44 แห่ง

ตลอดปี 2551 ยังมีข่าวการจับยาบ้าอย่างต่อเนื่องในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2551 มีการจับยาบ้าในประเทศจีนสูงถึง 6.2 ตัน และในประเทศฟิลิปปินส์สูงถึง 855 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับ 369 กิโลกรัม ที่ถูกจับได้ในปี 2550 ขณะเดียวกันในประเทศไทย ได้มีการจับยาบ้าสูงถึง 22 ล้านเม็ดในปี 2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของ 14 ล้านเม็ดที่จับได้ในปี 2550

การจับกุมต้นกัญชาในประเทศฟิลิปปินส์มีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก 2.5 ล้านต้นในปี 2550 เป็น 4 ล้านต้นในปี 2551 ในลักษณะเดียวกันการจับกุมกัญชาก็ได้เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ตัน ในปี 2550 เป็น 2.7 ตันในปี 2551

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีรายงานการจับกุมกัญชาในปริมาณที่สูงมากในประเทศญี่ปุ่น มองโกเลียและสาธารณรัฐเกาหลี

โอเชียเนีย

มีการเพิ่มการลักลอบตัวยาซึ่งมีส่วนผสมของ ซูโดเอฟิดรีน (pseudoephedrine) เข้าสู่ประเทศนิวซีแลนด์ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2551 ปริมาณ ซูโดเอฟิดรีน เม็ด ที่จับได้สูงถึง 13 เท่าของปริมาณที่จับได้ในปี 2550 ซึ่งพบว่าการขนส่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการโดยกลุ่มผู้ร้ายชาวเอเชีย ที่อยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้นักศึกษาและนักท่องเที่ยวชาวเอเชียเป็นผู้รับ ในขณะเดียวกัน จากการจับกุมในประเทศพบว่าประเทศจีน ก็กำลังเริ่มที่จะกลายเป็นแหล่งใหญ่ของซูโอเอฟิดรีน เม็ด โดยมีประเทศฟิจิ ประเทศปาปัวนิวกินี่ และ ประเทศทองก้า รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเป็นทางผ่าน

ถึงแม้ว่ามีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อที่จะดูแลปัญหาด้านการควบคุมยาเสพติด การล่าช้าในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อที่จะดูแลและทำงานที่สืบเนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านการควบคุมยาเสพติด ของประเทศในแถบ โอเชียเนีย และภูมิศาสตร์ในภูมิภาคซึ่งเอื้อต่อการขนส่งและเดินทาง ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงต่อการค้ายาเสพติดสูง คณะกรรมการพยายามผลักดันให้รัฐบาลในภูมิภาคให้ความร่วมมือในสนธิสัญญาด้านยาเสพติดระหว่างประเทศ

ในรายงานนี้ คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลนำข้อยุติหมายเลข 52/8 ของคณะกรรมธิการยาเสพติดมาใช้โดยเร็วที่สุด และให้ตื่นตัวในกรณีการเพิ่มขึ้นของสถานการณ์ต่างๆซึ่งเอื้อต่อความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดเช่นพฤติกรรมการ เที่ยว ข่มขืน และ ใช้ยาเป็นต้น อีกทั้งยังเน้นถึงความสำคัญในการร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาและเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการ