การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเกิดนั้นขึ้นทุกวัน
โดยที่เราไม่ค่อยรู้ตัว

ดูคลิปวิดีโอของเรา >>>

รักนี้ผิดถนัด

เรื่องราวเริ่มต้นจากคำทักทายสั้น ๆ ว่า “สวัสดีครับ” ที่ปรากฏขึ้นบนหน้าจอมือถือของสิรินญา (ชื่อสมมติ) CFO ของบริษัทแห่งหนึ่ง ข้อความนี้ส่งมาจากนายทหารสวมชุดลายพรางหน้าตาหล่อเหลา ชื่อบนโปรไฟล์ของเขาเขียนว่า นายแพทย์อดิต (ชื่อสมมติ) 

“คุณอยู่ที่ไหนเหรอคะ” เธอถาม และหลังจากนั้นไม่นานเธอก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเขา

เท่าที่เธอรู้คุณหมออดิตเป็นแพทย์ทหาร ทำงานอยู่ต่างประเทศ เขาชอบช่วยเหลือคนอื่น และเขารักงานที่ตัวเองทำอยู่ สิรินญาคิดว่าเขาเป็นคนดีและอ่อนโยน ทั้งสองมักจะส่งข้อความคุยกันเป็นชั่วโมง ๆ 

“อยากได้ยินเสียงคุณจังเลย ขอโทรไปได้มั้ยคะ” เย็นวันหนึ่งเธอถาม
เขา “ขอโทษครับ ผมคงทำแบบนั้นไม่ได้ ที่ฐานทัพมีกฎว่าห้ามคุยโทรศัพท์ มันเป็นเหตุผลด้านความมั่นคงน่ะ” เขาตอบ “แต่ผมส่งรูปหรือวีดีโอไปได้นะ ถ้าคุณอยากเห็น” ดังนั้นทั้งสองจึงส่งรูปและวีดีโอหากันไปมาอยู่หลายสัปดาห์ จนหลายเดือนต่อมา เรื่องราวจริงๆ ก็เริ่มขึ้น 

“ผมว่าผมหลงรักคุณเข้าแล้วล่ะ” เขาบอกกับเธอ คำพูดดังกล่าวทำให้ใจของสิรินญาเต้นรัว เธอรู้สึกเป็นสาวอีกครั้งถึงแม้จะวัย 50 แล้วก็ตาม “ฉันก็เหมือนกัน” เธอตอบกลับไป 

เวลาผ่านไปอีกหลายเดือน ในวันหนึ่ง หมออดิตส่งข้อความมาหาเธอว่า “ที่รัก พ่อของผมเสียชีวิตแล้ว” 

หมออดิตเล่าต่อไปว่า เขาอยากจะโอนย้ายเงินมรดก 85 ล้านดอลลาร์จากพ่อมาที่ไทย แล้ว เขาจะซื้อบ้านหรูอยู่กินกับเธอ สิรินญาจึงทุ่มเทเวลาและแรงกายเพื่อหาซื้อบ้านหรูหลังนั้น แล้วหมออดิตก็ขอให้เธอเอาเงินเข้าบัญชีไว้ก่อนเพราะเขาติดปัญหาเรื่องย้ายเงินออกจากธนาคารที่สวิสเซอร์แลนด์ ในขณะเดียวกันหมออดิตก็ขอให้สิรินญาสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ในการย้ายเงินมรดกก้อนใหญ่มายังประเทศไทย

สำหรับสิรินญาแล้ว การจัดการเงินก้อนใหญ่ไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับเธอนัก ในฐานะ CFO อาวุโสคนหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ ตลอดระยะเวลาสามเดือนต่อจากนั้น สิรินญาได้ปลอมแปลงใบแจ้งหนี้และลงบัญชีปลอมเพื่อโอนเงิน 251 ครั้ง ไปเข้าบัญชีธนาคาร 112 บัญชี ใน 17 ประเทศ โดยเงินที่สิรินญาโอนออกมานั้น มาจากบัญชีของผู้ว่าจ้างของเธอนั่นเอง

เป็นเวลาสี่เดือนกว่าบริษัทจะจับได้ว่ามีการยักยอกเงินกว่า 250 ล้านดอลลาร์ สิรินญาถูกตั้งข้อหาโจรกรรม 251 กระทงและถูกตัดสินจำคุก 502 ปี 

เหยื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ
เพียงฝึกสังเกตสัญญานอันตราย คุณเองก็ป้องกันการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตได้ 

แหล่งที่มา:
https://www.abc.net.au/news/2022-07-10/how-thailands-biggest-romance-scam-was-pulled-off/101213930

งานในฝัน

อาติ (ชื่อสมมติ) เป็นชายชาวมาเลเซียคนหนึ่งซึ่งกำลังท่องโลกออนไลน์อยู่และกำลังรู้สึกท้อแท้ เนื่องจากในช่วงโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้เขาว่างงานมาปีกว่าแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปมรสุมชีวิตก็รุมเร้า แถมเจ้าหนี้ก็โทรเข้ามาไม่หยุด ในขณะที่เขารู้สึกหมดหวังนั่นเอง เขาก็ได้เห็น ประกาศรับสมัครงานด้านเทคโนโลยีที่ให้เงินเดือนสูง ถึง 3,300 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการไปประจำสำนักงานที่กัมพูชา เขาเข้าคุณสมบัติทุกอย่างเลยตัดสินใจโทรไปสมัครงานทันที

หลังจากพูดคุยสั้น ๆ ผ่านโทรศัพท์ นายจ้างคนใหม่ก็อนุมัติให้เขาไปประจำที่ประเทศกัมพูชาได้ เพียงแต่วิธีเข้าประเทศจะดูแปลก ๆ ไปจากปกติสักหน่อย เพราะแทนที่จะเป็นเที่ยวบินตรง อาติต้องนั่งเรือมาที่ประเทศไทยก่อน (แบบผิดกฎหมาย) แล้วค่อยนั่งรถลักลอบข้ามชายแดนไปยังกัมพูชา แต่นั่นแหละ อาติไม่มีทางเลือกแล้ว เขาต้องไปให้ได้!

พอไปถึงที่ทำงาน อาติสังเกตเห็นว่าสถานที่ดูเหมือนคาสิโนขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานอยู่บนชั้นสูง ๆ โดยในวันที่เขามาถึง ก็มีพนักงานหน้าใหม่ที่มาจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย และลาว และรอเพียงไม่นาน ก็มีกลุ่มชายใส่สูทออกมาต้อนรับคณะเดินทางพร้อมขอหนังสือเดินทางจากพวกเขาเพื่อจัดการเรื่องตรวจคนเข้าเมือง

กลุ่มชายใส่สูทนำพวกเขาขึ้นบันไดไปยังห้องกว้าง ลักษณะดูเหมือนสำนักงานคอลเซนเตอร์ แต่แล้วชายสวมหน้ากากพกปืนไฟฟ้าสามคนเดินเข้ามา ในมือของเขามีกุญแจมือ พวกเขาตะโกนว่า “แต่ละคนมาเอาไปคนละคู่แล้วล็อกขาตัวเองเข้ากับโต๊ะซะ จากนี้พวกแกต้องทำงานให้เรา!”

“งาน” ที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ทำคือการหลอกเอาเงินจากผู้คนบริสุทธิ์ผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งวันทั้งคืน หากวันไหนหยุดทำงาน หรือทำงานไม่ได้ตามเป้าก็จะถูกทุบตี อาติถูกช็อตไฟฟ้าราวสามครั้งต่อสัปดาห์ขณะที่ต้องทำงานหลอกลวงผู้อื่น

อาติทุกข์ทรมานอยู่เกือบเดือน จนเขาเจอวิธีติดต่อกับหน่วยบริการสาธารณะและรับคำร้อง ของสมาคมชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน (MCA)ที่เข้ามาช่วยเหลืออาติผ่าน ความร่วมมือของสถานทูตและเจ้าหน้าที่ชาวกัมพูชา 

โชคดีที่อาติหาทางออกจากสถานการณ์ได้ แต่ยังมีผู้คนหลายพันคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี) อีกไม่น้อยเลยหลงกลข้อเสนองานเหล่านี้ ทำให้เกิดความสูญเสียเงิน ข้อมูลส่วนตัว หรือเลวร้ายที่สุดคืออาจตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์

เหยื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ แต่แค่เพียงฝึกสังเกตสัญญานอันตราย
คุณเองก็ป้องกันการหลอกลวงทาง

แหล่งที่มา:
https://www.eco-business.com/news/cyber-criminals-hold-asian-tech-workers-captive-in-scam-factories/
https://www.channelnewsasia.com/asia/malaysia-overseas-job-scam-victims-cambodia-myanmar-laos-thailand-tortured-2940326

พยาบาลทุ่มหมดหน้าตัก
เพราะคิดว่าได้พบรักแท้

“ไม่อยากเชื่อ ฉันรักเขามากทั้ง ๆ ที่รู้จักกันได้สามสัปดาห์เอง!” ทิวา (ชื่อสมมติ) พยาบาลที่กำลังเก็บเงินซื้อบ้าน ปลื้มปริ่มที่ได้รู้ว่าตัวเองเจอเนื้อคู่ผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในชีวิต เนื้อคู่ของเธอคือ เพชร (ชื่อสมมติ) นักออกแบบตกแต่งภายใน ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ

“เฮ้อ ถึงเวลาออกเวรซะที” เธอเช็คโทรศัพท์และโทรหาเพชรตามปกติ และได้รับฟังโอกาสการลงทุน

ดีๆ จากเขา เขาบอกเธอว่า “ที่รัก อันนี้ไม่ใช่การลงทุนขนาดใหญ่อะไรมากมาย ถือเป็นการหารายได้เสริมก็แล้วกัน” หลังจากฟังรายละเอียดได้ไม่นาน ทิวาตกลงและโอนเงินส่วนที่เธอมีเข้าไปในบัญชีการลงทุนที่เพชรแนะนำ

วันต่อมา ธนาคารโทรมาหาเธอแล้วแจ้งว่าเงินก้อนนั้นหายไปแล้ว ทิวาใจหายวูบ รีบส่งข้อความหาเพชร “ฉันไม่รู้จะทำยังไงดี อีกไม่กี่วันก็จะผ่าตัดหัวใจแล้ว แต่ฉันเพิ่งถูกหลอกเอาเงินไป 30,000 ดอลลาร์!” เพชรตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไร ผมมีวิธีเอาเงินคืนให้คุณ ผมจะให้เงินคุณอีก 10,000 ดอลลาร์ไว้สำหรับเริ่มลงทุนด้วย และเดี๋ยวผมจะบินไปหาคุณและจะดูแลคุณหลังผ่าตัดเอง แต่ตอนนี้ผมขอรายละเอียดบัญชีของคุณหน่อย คุณคอยทำตามที่ผมบอกนะ”

เพชรบอกให้เธอเอาเงินมาลงทุนในเว็บไซต์ที่เขาร่วมดูแล บนเว็บนั้น เขาจะช่วยซื้อขายหุ้นเพื่อหาเงินให้เธอ โดยที่เธอไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเพชรคอยทำให้หมดทุกอย่าง

ไม่นานหลังจากนั้น ทิวาก็เปิดเว็บไซต์เพื่อเช็คผลการลงทุน บนหน้าจอขึ้นว่าเธอทำกำไรได้แล้ว 30,000 ดอลลาร์ ! เธอตื่นเต้นอยากจะเอาเงินออกมา แต่เพชรบอกเธอว่ามันเร็วเกินไปที่จะเอาเงินออกในเมื่อโอกาสที่จะทำกำไรได้ยังมีมากกว่านี้ “ถ้าคุณรีบเอาเงินออกมาตอนนี้ คุณจะทำลายอนาคตของเราเลยนะ และหากอนาคตของผมต้องไม่มีคุณ ผมขอตายดีกว่า!”

เพชรยังคงโน้มน้าวให้ทิวาลงทุนเพิ่ม โดยบอกให้เธอไปกู้เงิน ขายรถ ยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัว และท้ายที่สุดให้เธอจำนองบ้านของเธอที่มาเลเซีย แต่โชคดีที่พ่อของทิวาจับสังเกตได้และเตือนให้ทิวาระวังพร้อมให้ดูบทความเรื่องการหลอกลวงแบบเชือดหมู ที่หลอกให้เหยื่อรักแล้วชวนให้เหยื่อลงทุนเพื่อหลอกเอาเงินอีก โดยผู้หญิงในเรื่องเสียไป 500,000 ดอลลาร์ 

ในบทความ ทิวาเห็นรูปผู้ชายคนหนึ่งแล้วจำได้ว่าคือเพชร คนเดียวกันกับคนที่เธอคุยด้วยมาตลอดสี่เดือนนี้ เธอเองก็เป็นเหยื่อของการหลอกลวงนี้เช่นกัน

เพราะความรักที่ไม่มีอยู่จริง ทิวาถูกประกาศให้เป็นบุคคลล้มละลายด้วยหนี้สิน 270,000 ดอลลาร์

แต่แค่เพียงฝึกสังเกตสัญญานอันตราย คุณก็ป้องกันการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตได้

แหล่งที่มา:
https://www.straitstimes.com/singapore/courts-crime/she-lost-240000-in-pig-butchering-cryptocurrency-scam-after-fraudster-courted-her-for-months

ยิ่งโทษเหยื่อหลอกลวงออนไลน์
ยิ่งสบายมิจฉาชีพ

ปัจจุบัน มีองค์ความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิทยากับเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีนั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ควบคุมและป้องกันได้ ส่วนชีววิทยาและสมองคนเรานั้นมีการตอบสนองทางอารมณ์ที่ซับซ้อน แต่ก็พอจะมีรูปแบบที่ทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถใช้ประโยชน์จาก ‘การตอบสนองทางอารมณ์’ เพื่อสร้างความเสียหายแก่เหยื่อทั้งทางการเงินและจิตใจได้เหมือนกัน

ทุกครั้งที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงออนไลน์ หลายคนมักจะคิดว่า

‘ทำไมไม่ระวังตัวเลยนะ ทำไมถึงเชื่ออะไรที่ไม่น่าเชื่อแบบนั้น’
แต่รู้หรือไม่ว่า ‘การเอาแต่โทษเหยื่อที่ถูกหลอก’
นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์น้อยลง ในขณะที่มีคนโดนหลอกมากขึ้นทุกวัน

ในปี 2552 การโทษเหยื่อที่ถูกหลอกเป็นประเด็นที่ปรากฏในที่ประชุมระดับคณะรัฐบาลในหัวข้อความปลอดภัยของข้อมูล โดยมีผู้แทนราษฎรคนหนึ่งได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมอภิปรายว่าทำไมเราถึงไม่พัฒนาเทคโนโลยีที่ลดความเสี่ยงจากความหละหลวมในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นกล่าวว่า

“ไม่มีเทคโนโลยีไหนในโลกที่จะช่วยหยุดคนไม่ให้กดปุ่ม enter บนแป้นพิมพ์ได้หรอก”

เพราะมีผู้คนทั่วโลกหันมาใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น การหลอกลวงทางออนไลน์จึงเกิดมากขึ้นกว่ายุคไหน ๆ ดังนั้นจะคาดหวังให้ทุกคนต้องรู้ทันกลโกง 100% ตลอดเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ และกลโกงใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทุกวัน

การโทษเหยื่อที่ถูกหลอก จึงไม่ช่วยแก้ปัญหา ซ้ำยังทำให้ผู้คนไม่กล้าบอกเล่าเรื่องราวเทคนิคหรือกลวิธีใหม่ ๆ ของมิจฉาชีพที่ตนเจอมาเพราะจะถูกซ้ำเติมในโลกออนไลน์ ดังนั้น หากโลกอินเตอร์เน็ตไม่ปลอดภัยที่จะแบ่งปันรูปแบบของการหลอกลวงใหม่ๆ เราก็ไม่อาจมีหนทางในการรับรู้ได้ว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์จะมาในรูปแบบใด

… และในวันหนึ่งมันอาจเป็นเรา 

ดังนั้น หากอยากปกป้องตัวเราเองและคนที่เรารู้จัก อย่าเก็บเรื่องราวที่เจอเอาไว้คนเดียว เหยื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ แต่แค่เพียงฝึกสังเกตสัญญานอันตราย คุณก็ป้องกันการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตได้ 

แหล่งที่มา:
https://www.itweb.co.za/content/8OKdWMDYwrGqbznQ
https://www.aarp.org/money/scams-fraud/info-2022/victim-blaming.html

เมื่อองค์กรการกุศลปลอม
แย่งเงินบริจาคไปจากคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ 



ทุกวันนี้มีการหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบของ “องค์กรการกุศลปลอม” ที่ตั้งเป้าจะหาประโยชน์จากคนใจบุญที่อยากบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้ มิจฉาชีพมีกลเม็ดหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการสร้างมูลนิธิที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมาแต่ทำข้อมูลออนไลน์ให้น่าเชื่อถือ หรือ การสวมรอยเป็นมูลนิธิสร้างช่องทางบริจาคที่แม้แต่คนในมูลนิธิจริงก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังถูกแอบอ้าง !

กลลวงด้วยอีเมลและเว็บไซต์ปลอมเหล่านี้ จึงไม่ได้แค่สร้างความเสียหายทางการเงินให้เหยื่อ แต่ยังแย่งเงินบริจาคไปจากมูลนิธิที่ต้องการเงินจริง ๆ ด้วย

หนำซ้ำ องค์กรการกุศลปลอมเหล่านี้ ยังหาวิธีหลอกคนตลอดทั้งปี บ้างอ้างว่าเอาเงินไปช่วยเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออาจเป็นมูลนิธิที่ทำการวิจัยด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว หรือปลอมตัวเป็นผู้ป่วยที่ขอรับบริจาค

เหตุการณ์หนึ่งในสิงค์โปร์ ประชาชนต่างตกใจที่แพลตฟอร์มระดมเงินบริจาคชื่อดังถูกตราหน้าว่าส่งอีเมล์ปลอมไปหาผู้ใช้งาน หลังมีเรื่องร้องเรียนบ่อยเข้า เจ้าหน้าที่รัฐจึงออกหนังสือเตือนไม่ให้ผู้คนกรอกข้อมูลบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ลงบนแพลตฟอร์มนี้ 

เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เพียงช่วยป้องกันผู้คนจากการบริจาคให้กับมูลนิธิที่ไม่มีอยู่จริงเท่านั้น แต่ยังทำให้มูลนิธิหลายร้อยมูลนิธิที่มีอยู่จริงและเปิดรับบริจาคผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว เสียโอกาสในการระดมทุนในช่องทางออนไลน์ไปด้วย โดยการแจ้งเตือนการหลอกลวงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากแพลตฟอร์มที่ว่าถูกประกาศให้เป็นช่องทางในการบริจาคที่มียอดบริจาคสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปีก่อนหน้า

องค์กรการกุศลปลอมมีช่องทางในการสร้างกลลวงหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่ดูเหมือนองค์กรจริง หรือมิจฉาชีพบางคนอาจโทรศัพท์ หรือส่งอีเมลเข้ามาเพื่อขอรับบริจาค

โดยมิจฉาชีพมักจะหว่านล้อมทำให้เป้าหมายรู้สึกกดดันหากปฏิเสธ โดยการเล่นกับความรู้สึกด้วยการอ้างว่ามูลนิธิของตนกำลังช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ป่วย

คุณจะรอดพ้นจากการถูกหลอกลวงครั้งนี้ได้หรือไม่ ?


แหล่งที่มา:
https://www.scamwatch.gov.au/types-of-scams/fake-charities
https://www.straitstimes.com/singapore/charity-platform-givingsg-alerts-public-to-phishing-emails

เรียนรู้เพิ่มเติม